ปลาทองหัวสิงห์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และญี่ปุ่น และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อราว ๆ 40 ปีที่แล้ว และเริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์จากญี่ปุ่น ทำให้ได้ปลาทองลูกผสมที่มีสีสันหลากหลายเช่น สีแดง สีทอง สีส้ม สีเทา สีดำ สีขาว และหลากสีในตัวเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีหลากสายพันธุ์ในบ้านเรานั้นการเลี้ยงปลาหัวสิงห์นั้นจะนิยมเลี้ยงกันหลัก ๆ 4 ประเภทเท่านั้นโดยมีดังต่อไปนี้
ปลาทองหัวสิงห์ จีน
จุดเด่นคือ จะมีหัวที่ใหญ่กว่าลำตัวมาก ส่วนหัวมีวุ้นมาก และหนากว่าสิงห์พันธุ์อื่น ๆ หลังลาดโค้งเล็กน้อยไม่มีครีบบนหลัง โดยในญี่ปุ่นได้แยกลักษณะวุ้นบนหัวปลาสิงห์หากมีเท่ากันเกือบทั้งหัวเรียก “ชิชิงาชิระ” หากมีเฉพาะกลางหัวเรียกว่า “โทกิง” หากมีทั้งบนหัว และฝาเหงือกทั้งสองข้างเรียกว่า “โอคาเหมะ” สำหรับส่วนหางของสิงห์จีนจะหนาใหญ่กว่าสิงห์สายพันธุ์ที่มีอยู่ทั้งหมด สีที่พบเห็นได้ทั่วไปคือสีแดง
ปลาทองหัวสิงห์ ญี่ปุ่น
เป็นปลาที่ญี่ปุ่นนำสิงห์จีนมาพัฒนาสายพันธุ์พันธุ์ ลักษณะเด่นคือ หลังจะโค้งมากกว่าสิงห์จีนจนถูกเปรียบเทียบว่า หลังโค้งไข่ผ่าซีก มีวุ้นอยู่บริเวณ หัว แก้ม เหนือริมฝีปาก และคาง หลังของปลาจะต้องโค้งจน ส่วนของครีบหางต่อกับลำตัวเป็นมุมเฉียงขึ้น45 องศา ครีบทวารมีทั้งเดี่ยว และแบบคู่ สีที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ มีแดงกับขาวสลับแดง
ปลาทองหัวสิงห์ ลูกผสม
เป็นการพัฒนาสายพันธุ์โดยคนไทย โดยนำเอาจุดเด่นของสิงห์จีนกับญี่ปุ่นมาผสมกันโดยจะมีวุ้นบนหัวน้อยกว่าสิงห์จีนเล็กน้อย แต่หลังจะโค้งจนแทบจะเหมือนสิงห์ญี่ปุ่น ด้วยการที่สิงห์ญี่ปุ่นเพาะพันธุ์ค่อนข้างยาก สิงห์ลูกผสมนี้จึงค่อนข้างมีราคาสูง
ปลาทองหัวสิงห์ สยาม
หัวสิงห์สยาม หรือมีชื่อไทยว่า สิงห์ดำ, ทองเล่ห์ ถูกพัฒนาโดยคนไทย ทองเล่ห์มีความคล้ายกับ สิงห์ลูกผสม แต่ลำตัวจะเป็นสีดำทั้งหมดแม้กระทั่งครีบ ส่วนท้องบางตัวอาจจะมีสีทอง เนื่องจากลำตัวจะมีสีดำวุ้นก็จะดำด้วย และมีวุ้นดกมาก หนังของปลาจะมีเยื่อบาง ๆ ปกคลุมมีสีดำ ดังนั้นเมื่อเกิดแผลเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นชัดมาก หลังมีความโค้งเทียบเท่ากับสิงห์ญี่ปุ่น
ทั้งหมดนี้คือ ปลาทองหัวสิงห์ ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ส่วนใครที่กำลังคิดจะเลี้ยงก็ควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพราะการเลี้ยงปลาหัวสิงห์ต้องมีการใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อที่จะได้มีความสวยงามตรงตามสายพันธุ์ และแข็งแรงไม่ตายง่าย