หากพูดถึงโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ถือว่าพบได้มากที่สุดโดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายที่มีอายุ 50 – 70 ปี ที่เยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ แล้วลามไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
สาเหตุการเกิด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ยังไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก็คือการสูบบุหรี่เพราะมีสารก่อมะเร็งที่เข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และมีการระบายออกทางปัสสาวะ รวมไปถึงผู้ที่อยู่ใกล้หรือทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่มีส่วนประกอบของสารอะนีลีน สารไฮโดรคาร์บอน ที่พบมากใน สีย้อมผ้า น้ำยาย้อมผม อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และผู้บริโภค แซ็กคาริน หรือ ดีน้ำตาล (ขัณฑสกร)
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ก็อย่างเช่นมีอาการระคายเคืองอักเสบจากก้อนนิ่ว การใช้สายระบายปัสสาวะนาน ๆ การมีพยาธิที่ไข่บริเวณผนังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไปกระตุ้นเซลล์ภายในจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ผู้ที่เคยรับการฉายแสงรักษามะเร็ง หรือทำเคมีบำบัด บริเวณเชิงกราน เป็นต้น
อาการ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
อาการที่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้คือ หากเป็นอาการที่ไม่รุนแรงคือปัสสาวะออกมาโดยมีเลือดปนอยู่เหมือนน้ำล้างเนื้อ หากอาการรุนแรงอาจจะเป็นเลือดสด ๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะปัสสาวะบ่อย รู้สึกเจ็บท้องน้อย หรือปลายท่อปัสสาวะเวลาเบ่ง หากเป็นช่วงที่มะเร็งลุกลามอาจจะเจ็บท้องน้อยโดยที่ไม่จำเป็นต้องเบ่งปัสสาวะ หากมะเร็งลามไปถึงไต ก็จะเกิดไตวาย ทำให้มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน น้ำปัสสาวะลดลง และปวดหลัง เป็นต้น
การวินิจฉัย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วนำเอาปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หากพบเซลล์มะเร็ง ก็จะส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปสำรวจภายในกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะสามารถบอกได้อย่างแน่ชัด แต่หากแค่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งก็จะนำชิ้นเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน รวมไปถึงการถ่ายภาพทางรังสีบริเวณช่องท้องด้วย
การรักษา มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ระยะที่ยังไม่ลุกลาม – จะทำการตัดมะเร็งออกจากกระเพาะปัสสาวะโดยส่องกล้องผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษา หรือยาที่ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หลังการผ่าตัดชิ้นเนื้อ
ระยะที่ลุกลามไปถึงผนังกระเพาะปัสสาวะ – หากเซลล์มะเร็งลามไปจนถึงผนังกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะข้างเคียง จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาส่วนที่มะเร็งลุกลามออกจนหมด แล้วจะนำเนื้อเยื่อจากลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะอาหาร ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องถ่ายปัสสาวะทางปลายลำไส้ที่เปิดออกทางหน้าท้อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และการทำงานของไต
วิธีป้องกัน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบก่อนนอน เพราะสารก่อมะเร็งจะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
- หากต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับ สี ยาง สายไฟฟ้า และพลาสติก ก่อนทานอาหารควรล้างมือให้สะอาด เพราะอาจมีสารเคมีติดอยู่ที่มือ
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นหากมีอาการอย่างที่กล่าวไปข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัย และรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยเด็ดขาด