ธนบัตรและเหรียญเป็นสิ่งที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่ธนบัตรและเหรียญก็สามารถเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากมีการสัมผัสและผ่านมือผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตระหนักคือเชื้อโรคที่อาจติดมากับเงินสด และวิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากการใช้เงินสด
เชื้อโรคที่พบได้บ่อยบนธนบัตรและเหรียญ
1.แบคทีเรีย
มักพบเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ หรือ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้และอาจก่อให้เกิดอาการท้องร่วงและอาการทางเดินอาหารอื่นๆ ได้หากมีการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่ม
2.ไวรัส
เงินสดยังสามารถเป็นพาหะของไวรัสได้ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) และ ไวรัสไข้หวัดธรรมดา (Common cold virus) โนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอาเจียนและท้องเสียเฉียบพลัน ที่สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรง
3.เชื้อรา
เชื้อราเช่น Aspergillus และ Candida สามารถพบได้บนพื้นผิวธนบัตรและเหรียญ ซึ่งเชื้อราเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งระบบทางเดินอาหารในบางกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
โรคที่อาจเกิดจากเชื้อโรคบนธนบัตรและเหรียญ
การสัมผัสเชื้อโรคที่มากับธนบัตรและเหรียญอาจนำไปสู่การเกิดโรคได้หลายประเภท เช่น
- โรคผิวหนัง : เชื้อแบคทีเรียอย่าง Staphylococcus aureus สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ฝีหนอง หรือตุ่มหนอง
- โรคระบบทางเดินอาหาร : แบคทีเรีย E. coli และไวรัสโนโรไวรัสสามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- โรคระบบทางเดินหายใจ : การสัมผัสไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสไข้หวัดธรรมดาแล้วเอามือไปสัมผัสใบหน้า อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน
วิธีป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคบนธนบัตรและเหรียญ
1.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ ให้ความสำคัญกับการล้างซอกนิ้ว เล็บ หรืออาจฉีดพ่นมือด้วยแอลกอฮอล์
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก ตา หลังจากการจับธนบัตรหรือเหรียญโดยไม่ล้างมือ
3.ใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด
4.ทำความสะอาดธนบัตรและเหรียญ ด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนเก็บเข้ากระเป๋า
แม้ว่าธนบัตรและเหรียญจะเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้หลายประเภท ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และการใช้วิธีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้เราสามารถรักษาสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ